ในตอนจบวัน (ต้องอ่าน)‏

0 comments
ผมมีประสบการณ์หาแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่หลายครั้ง
พบว่าบางทีค่ารักษากับหมอใหม่แพงกว่าหมอที่มีประสบการณ์ยาวนาน
ทั้งที่ขัดกับหลักตรรกที่ว่า หมอที่ทำงานยาวนานน่าจะคิดค่ารักษาแพงกว่า
เหตุผลก็เพราะว่า หมอจบใหม่บางคนเกิดอาการเกร็ง
อาจเกิดความกลัววูบขึ้นมาว่า "จะเกิดอะไรขึ้นหากวินิจฉัยโรคพลาด?"

เมื่อเกร็งก็เกิดความไม่แน่ใจ เพื่อความปลอดภัยต่ออาชีพของตนก็สั่งให้มี
การทดสอบในห้องแล็บเพิ่มอีกหลายรายการ
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคนไข้ท้องเสียก็สั่งตรวจดูว่าเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด
ทั้งที่คนไข้บอกว่าไม่ได้กินอาหารสกปรกอย่างแน่นอน
ผลตรวจที่ออกมาสรุปว่าท้องเสียไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค หากจากความเครียด
เมื่อรวมค่าตัวของหมอใหม่ (ซึ่งไม่สูงนัก) กับค่าตรวจในแล็บและอื่นๆ รวมๆ แล้ว
ก็มากกว่าที่คนไข้ควรจ่ายเมื่อรักษากับหมอที่มีประสบการณ์กว่า

ครั้งหนึ่งผมเกิดอาการปวดหัวตึบๆ หมอใหม่ก็จัดการส่งผมไปสแกนสมอง
ทั้งที่ผมรู้ว่าไม่เป็นอะไรมาก "เพื่อความชัวร์" หมอว่า
เมื่อเห็นใบเสร็จผมก็เกิดอาการปวดหัวกว่าเดิม

เพื่อนสถาปนิก-ผู้รับเหมาคนหนึ่งบอกผมว่า ในงานทุกชิ้นของเขา จะเจาะจงใช้แต่ช่างชั้นหนึ่งเท่านั้น
ไม่ใช้ 'มือใหม่หัดขับ' เลย ทั้งที่ค่าแรงช่างเก่าแพงกว่า 2-3 เท่า
"ทำไม?" ผมถาม
เขายกตัวอย่างงานปูน ช่างปูนที่เพิ่งทำงานไม่นานค่าแรงต่อวันถูกมาก
แต่เนื่องจากยังอ่อนประสบการณ์ จึงใช้ปูนซิเมนต์เปลืองมาก
ทุกครั้งที่ตักปูนมาก่อกำแพงหรือฉาบ ปูนมักหล่นเรี่ยราด ส่วนที่ตักเกินมาก็ปาดทิ้ง
กว่าจะจบงานหนึ่งชิ้น ต้องเสียปูนไปเกินจำเป็น ขณะที่ช่างที่เชี่ยวชาญใช้ปูนเท่าที่จำเป็นเพราะ
แม่นงานกว่า เมื่อคิดรวมดูแล้ว ใช้ช่างเชี่ยวชาญถูกกว่าและได้งานที่ดีกว่า

ในช่วงชีวิตของเรา ต้องพบกับการตัดสินเลือกของสองอย่างที่เลือกยาก
ส่วนมากมักมีเรื่องเงินทองมาเกี่ยว

คนส่วนมากเมื่อเจอกับการตัดสินใจดังกล่าวมักหนีไม่ค่อยพ้นสัจธรรมของ 'เสียน้อยเสียยาก
เสียมากเสียง่าย'

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไปสมัครงานสองบริษัทและได้งานทั้งสองแห่ง แห่งหนึ่ง
ให้เงินเดือนสูง แต่งานจำเจ อีกแห่งหนึ่งเงินเดือนต่ำกว่ามาก แต่งานท้าทาย

หลายคนเลือกเงินเดือนสูงไว้ก่อน เพราะมันทำให้รู้สึกว่ามีคนเห็นคุณค่าของ
เรามากพอที่ยอมจ่ายมากๆ

ในชีวิตของเรายังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องตัดสินใจเลือกไปทางซ้ายหรือทาง
ขวา และเป็นการเลือกที่ยากเอาการจะเรียนคณะวิชาที่ทำเงินหรือคณะวิชาที่ชอบ?
จะเลือกคณะที่ดูดังหรือเรียนแล้วดูเก่งกว่าคนอื่น
จะเลือกเรียนเพราะตามใจพ่อแม่หรือเลือกเพราะถนัดและรักงานนั้น
จะเลือกงานที่ให้เงินเดือนมากหรือเงินเดือนน้อย?
จะเลือกผู้หญิงที่ความสวยหรือความเก่ง? ฯลฯ

ฝรั่งมีวลีหนึ่งที่ว่า at the end of the day หมายถึง การวัดผลในตอนจบวัน
เป็นการใช้ชีวิตโดยการมองภาพรวม

จะลงทุนมากหรือน้อย จะทำงานใหญ่หรือเล็ก ไม่สำคัญเท่ากับว่า ในตอนจบวัน
คุณเหลือเงินในกระเป๋าสตางค์เท่าไร ชีวิตคุณว่างเปล่าไหม
อันที่จริงอาจไม่มีใครรักคุณจริง
หรือไม่มีเพื่อนแท้ๆ ให้เชื่อใจจริงๆและรักเราจริงสักคน
คุณอาจอยู่สูงแต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะดีเลิศกว่าคนอื่น
จำไว้ว่าพระเจ้าเค้าไม่ได้ให้อะไรเรามาหมดทุกอย่างหรอก

แม่ค้าขายขนมครกที่ทำงานไปเรื่อยๆ ตลอดวันเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว อาจจะมี
เงินในกระเป๋ามากกว่าเจ้าของร้านอาหารติดแอร์ฯ ที่ถึงแม้รายได้ต่อวันจะสูงกว่า
มาก แต่ค่าโสหุ้ยก็สูงเช่นกัน

บางทีเมื่อวัดกันที่ 'ในตอนจบวัน' อาจทำให้เราตัดสินใจหลายๆ เรื่องได้ง่ายขึ้น

ในตอนจบวัน แฟนคุณช่วยคุณสร้างเงินหรือถลุงเงิน?
ในตอนจบวัน คุณเก่งกว่าเดิมหรือเปล่า?
ในตอนจบวัน คุณมีความสุขมากกว่าความทุกข์หรือไม่?
และในตอนจบวัน คุณรู้สึกว่าชีวิตในวันนั้นสูญเปล่าหรือไม่?

โดย วินทร์ เลียววาริณ
If you like this post, please share it!
Digg it StumbleUpon del.icio.us Google Yahoo! reddit

No Response to "ในตอนจบวัน (ต้องอ่าน)‏"

แสดงความคิดเห็น